ศิลปะ เเละ นาฎศิลป์

ระบำ เป็นคำกริยา หมายถึง การแสดงที่ต้องใช้คนจำนวนมากกว่า 2 คนขึ้นไป ซึ่งการแสดงนั้นๆจะใช้เพลงบรรเลงโดยมีเนื้อร้องหรือไม่มีเนื้อร้องก็ได้ ระบำนั้นเป็นศิลปะของการร่ายรำที่เป็นชุด ไม่ดำเนินเป็นเรื่องราว ผู้รำแต่งกายงดงาม จุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความงดงามของศิลปะการรำไม่มีการดำเนินเรื่อง

รำ เป็นคำกริยา หมายถึง แสดงท่าเคลื่อนไหวคนเดียวหรือหลายคน โดยมีลีลา และแบบท่าของการเคลื่อนไหว และมีจังหวะลีลาเข้ากับเสียงที่ทำจังหวะเพลงร้องหรือเพลงดนตรี รำในความหมายต่อมาคือ "รำละคร"

ฟ้อน หมายถึง การแสดงกริยาเดียวกับระบำหรือการรำ เพียงแต่เรียกให้แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น จัดเป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคนั้นๆ แต่ในรูปของการแสดงแล้วก็คือ ลักษณะการร่ายรำนั่นเอง ที่ผู้แสดงต้องแสดงให้ประณีตงดงาม

ประเภทของระบำ จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ
ระบำมาตรฐาน เป็นระบำแบบดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณกาล ไม่สามารถนำมาเปลี่ยนแปลงท่ารำได้ เพราะถือว่าเป็นการร่ายรำที่เป็นแบบฉบับ บรมครูนาฏศิลป์ได้คิดประดิษฐ์ไว้ และนิยมนำมาเป็นแบบแผนในการรำที่เคร่งครัด การแต่งกายของระบำประเภทนี้ มักแต่งกายในลักษณะที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง"

ระบำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ เป็นลักษณะระบำที่ปรับปรุงหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของผู้แสดง และการนำไปใช้ในโอกาสต่างๆกัน จำแนกออกเป็น

ปรับปรุงมาจากพื้นบ้าน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นมาจากแนวทางความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน การทำมาหากิน อุตสาหกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นออกมาในรูประบำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของตน เช่น เซิ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา ฯลฯ
ปรับปรุงมาจากท่าทางของสัตว์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามลักษณะลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดต่างๆ บางครั้งอาจนำมาใช้ประกอบการแสดงโขน - ละคร บางครั้งก็นำมาใช้เป็นการแสดงเบ็ดเตล็ด เช่น ระบำนกยูง ระบำนกเขา ระบำมฤครำเริง ระบำตั๊กแตน ฯลฯ
ปรับปรุงมาจากตามเหตุการณ์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ประดิษฐ์ขึ้นรำในวันนักขัตฤกษ์ ลอยกระทงในเดือนสิบสอง ระบำที่เกี่ยวกับการอวยพรต่างๆสำหรับเป็นการต้อนรับ และแสดงความยินดี
ปรับปรุงขึ้นใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ระบำประเภทนี้เป็นระบำประดิษฐ์ และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสื่อนำสู่บทเรียน เหมาะสำหรับเด็กๆ เป็นระบำง่ายๆ เพื่อเร้าความสนใจประกอบบทเรียนต่างๆ เช่น ระบำสูตรคูณ ระบำวรรณยุกต์ ระบำเลขไทย ฯลฯ
ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่าทางจะไม่ตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือ และความสามารถของผู้สอน และตัวนักเรียนเอง

ประเภทของการรำ การรำจะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ 2 ประเภท คือ
แบ่งตามลักษณะของการแสดงโขน - ละคร ได้แก่

1. การรำหน้าพาทย์ เป็นการรำประกอบเพลงแบบหนึ่ง ซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า "หน้าพาทย์" ไว้ดังนี้
"การรำหน้าพาทย์ คือ การรำตามทำนองเพลงดนตรีปี่พาทย์ บรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร และอื่นๆ ผู้แสดงจะต้องเต้นหรือรำไปตามจังหวะ และทำนองเพลงที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะหรือถือหลักการบรรเลงเป็นสำคัญ"

ในการแสดงโขน - ละคร ตามท้องเรื่องผู้แสดงจะต้องใช้เพลงหน้าพาทย์ให้เหมาะสม ซึ่งปรมาจารย์ได้บัญญัติความหมาย และวิธีใช้ดังนี้

หน้าพาทย์ที่ใช้กับกิริยาไป - มาใกล้ และไกลเช่น

เสมอ ใช้สำหรับการไป - มาในระยะใกล้ๆของตัวละครโขนทั่วไป
เสมอมาร ใช้สำหรับพญายักษ์
เสมอสามลา ใช้สำหรับพญายักษ์ใหญ่ แสดงถึงความไป - มาด้วยความโอ่อ่า สง่างาม และภาคภูมิ เช่น ทศกัณฐ์ หรือการแสดงโขนตอนสามทัพ ซึ่งมีตัวละคร คือ ทศกัณฐ์ สหัสเดชะ และมูลพลัม เป็นต้น
เสมอเถร ใช้สำหรับฤาษี และนักพรต
เสมอตีนนก(บาทสกุณี) ใช้สำหรับตัวแสดงที่เป็นท้าวพญากษัตริย์ไป - มาด้วยความสง่างาม เช่น พระราม พระลักษณ์ อิเหนา เป็นต้น
เสมอเข้าที่ ใช้สำหรับเชิญพระฤาษี ครูอาจารย์ หรือใช้ในพิธีไหว้ครู
เสมอข้ามสมุทร ใช้สำหรับพระรามยกกองทัพข้ามมหาสมุทรไปกรุงลงกา
เสมอผี ใช้สำหรับพญายม ภูติผีปีศาจ หรือพิธีไหว้ครู
เสมอตาม เพลงเสมอทีมีลีลา และทำนองเป็นสำเนียงภาษา เช่น มอญ(เสมอมอญ) ลาว(เสมอลาว) แขก(เสมอแขก) พม่า(เสมอพม่า) เป็นต้น ใช้ประกอบกิริยาไป - มาของตัวละครที่สมมุติเป็นชาติต่างๆ
เชิด ใช้สำหรับตัวละครทั่วไปที่ไป - มาในระยะทางไกลๆอย่างรีบด่วน
เชิดฉาน ใช้ในการติดตามสัตว์ เช่น พระรามตามกวาง ย่าหรันตามนกยูง
เชิดจีน แสดงถึงลักษณะการเลี้ยวไล่ หลอกล่อในการติดตามจับ เช่น รามสูร - เมขลา พระลอตามไก่
ฉะเชิด เป็นลีลาท่ารำเฉพาะของตัวแสดงเป็นเจ้าเงาะในกิริยาไป - มาในระยะทางไกลเช่นเดียวกับเชิด
เหาะ ใช้สำหรับเทวดา นางฟ้า ในการไป - มาในที่ต่างๆด้วยกิริยารวดเร็ว
โคมเวียน ใช้สำหรับเทวดา นางฟ้า ในการไป - มาเป็นหมวดหมู่มีระเบียบ
กลองโยน ใช้ในขบวนแห่หรือการเดินทัพของกษัตริย์ โดยเคลื่อนไปอย่างช้าๆ
พญาเดิน ใช้สำหรับการไป - มาของตัวเอกหรือกษัตริย์
กลม ใช้สำหรับการไป - มาของเทพเจ้า เช่น พระนารายณ์ พระอิศวร สำหรับมนุษย์ที่ใช้เพลงกลมคือเจ้าเงาะ เพราะเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างเทวดา
ชุบ ใช้สำหรับนางกำนัล คนรับใช้
โล้ ใช้สำหรับการเดินทางไป - มาทางน้ำ
แผละ ใช้สำหรับการเดินทางไป - มาของสัตว์ปีก เช่น ครุฑ

หน้าพาทย์ที่ใช้สำหรับการรื่นเริง สนุกสนาน เช่น

กราวรำ ใช้สำหรับการแสดงในความหมายเยาะเย้ย หรือฉลองความสำเร็จ
สีนวล ใช้สำหรับท่วงทีเยื้องยาตรนาดกราย หรือความรื่นเริงบันเทิงใจของอิสตรี
เพลงช้า - เพลงเร็ว - เพลงลา ใช้สำหรับความเบิกบานใจในการไป - มาอย่างสุภาพ งดงาม แช่มช้อย และเมื่อไปถึงที่หมายแล้วจะบรรเลงเพลงลา ปกติเพลงเร็ว - เพลงลา มักบรรเลงหรือรำติดต่อกัน ใช้ประกอบการแสดงตอนขึ้นเฝ้า เป็นต้น

หน้าพาทย์ที่ใช้สำหรับการจัดทัพ และการตรวจพลเช่น

กราวนอก ใช้สำหรับการตรวจพลยกทัพของมนุษย์ และวานร
กราวใน ใช้สำหรับการตรวจพลยกทัพของฝ่ายยักษ์
กราวกลาง ใช้สำหรับการตรวจพลยกทัพของมนุษย์ในการแสดงละคร
ปฐม ใช้สำหรับการตรวจพลยกทัพของแม่ทัพนายกองฝ่ายพระราม คือ สุครีพ และฝ่ายลงกา คือ มโหทร

หน้าพาทย์ที่ใช้ในการต่อสู้ และติดตาม เช่น

เชิดกลอง ใช้ในการยกทัพ หรือการต่อสู้ทั่วๆไป
เชิดฉิ่ง ใช้ในการค้นหา การลอบเข้าออกในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง การเหาะลอยไปในอากาศ การใช้อาวุธ
เชิดนอก ใช้ประกอบกิริยาตัวละครที่มิใช่มนุษย์โลดไล่จับกัน เช่น หนุมานจับนางเบญกาย เป็นต้น

หน้าพาทย์ที่ใช้สำหรับการนอน การอาบน้ำ การกิน เช่น

ตระนอน ใช้สำหรับการนอน
ตระบรรทมสินธุ์ ใช้สำหรับการนอนของพระนารายณ์
ตระบรรทมไพร ใช้สำหรับการนอนของตัวละครที่ค้างแรมในป่า และใช้สำหรับพิธีไหว้ครูโขน - ละคร
ลงสรง ใช้สำหรับการอาบน้ำ
เซ่นเหล้า ใช้สำหรับประกอบการกินอาหาร ดื่มสุรา และใช้ในพิธีไหว้ครูโขน - ละคร

หน้าพาทย์ที่ใช้ในการเล้าโลมแสดงความรักใคร่ และเสียใจ เช่น

โลม ใช้สำหรับบทเกี้ยวพาราสีเล้าโลมด้วยความรัก
ทยอย ใช้สำหรับการแสดงความเศร้าโศกเสียใจด้วยการร้องไห้
โอดชั้นเดียว ใช้สำหรับแสดงกิริยาร้องไห้ เมื่อเสียใจไม่มาก หรือใช้กับการร้องไห้ทั่วไป
โอดสองชั้น ใช้สำหรับแสดงกิริยาร้องไห้เมื่อเสียใจมาก และนิยมใช้ในการแสดงละครใน
โอดเอม ใช้สำหรับแสดงกิริยาร้องไห้เมื่อดีใจ

หน้าพาทย์ที่ใช้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เช่น

ตระนิมิต ใช้สำหรับการแปลงกาย หรือเนรมิตขึ้นด้วยเวทมนตร์
ชำนาญ, ตระบองกัน ใช้สำหรับเนรมิต ประสิทธิ์ประสาทพร หรือแปลงตัว (ใช้สำหรับตัวพระ ตัวนาง และตัวยักษ์)
ตระสันนิบาต ใช้ประกอบพิธีชุมนุม กระทำพิธีสำคัญๆ เช่น พิธีไหว้ครู
คุกพากย์ และรัวสามลา ใช้สำหรับการแผลงอิทธิฤทธิ์
โอดเอม ใช้สำหรับแสดงกิริยาร้องไห้เมื่อดีใจ

การรำบท เป็นการรำอีกประเภทหนึ่งซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายต่างๆ ดังนี้
การรำบท คือ การแสดงท่าทางแทนคำพูดให้มีความหมายต่างไป รวมทั้งแสดงอารมณ์ด้วย
การรำบท คือ การแสดงท่าทางไปตามบท และไม่ใช้เสียงประกอบการพูด ฉะนั้นจึงหมายถึงการแสดงในความหมายของนาฏศิลป์ โดยใช้ภาษาท่าทางสื่อความหมาย
ประเภทที่แบ่งตามลักษณะของการรำ

รำเดี่ยว คือ การแสดงการรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว ได้แก่ การรำฉุยฉายต่างๆ เช่น ฉุยฉายวันทอง ฉุยฉายเบญกาย เป็นต้น
รำคู่ คือการแสดงที่นิยมใช้เบิกโรงอาจจะเกี่ยวข้องกับการแสดงหรือไม่ก็ได้ เช่น รำประเลง รำแม่บท รำอวยพร หรือเป็นการรำคู่ที่ตัดตอนมาจากการแสดงละคร เช่นพระลอตามไก่จากเรื่องพระลอ
รำหมู่ คือ การแสดงที่ใช้ผู้แสดงมากกว่า 2 คนขึ้นไป มุ่งความงามของท่ารำ และความพร้อมเพรียงของผู้แสดง เช่น รำวงมาตรฐาน รำพัด รำโคมรำสีนวล
ประเภทของการฟ้อน
ศิลปการแสดง "ฟ้อน" ในลานนานั้น มีลักษณะเป็นศิลปะที่ผสมกันโดยสืบทอดมาจากศิลปะของชนชาติต่างๆ ที่มีการก่อตั้งชุมชนอาศัยอยู่ในอาณาเขตลานนานี้มาช้านาน นอกจากนี้ยังมีลักษณะของการรับอิทธิพลจากศิลปะของชนชาติที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย จากการพิจารณาศิลปะการฟ้อนที่ปรากฎในลานนายุคปัจจุบัน ท่านอาจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แบ่งการฟ้อนออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจากการนับถือผี เป็นการฟ้อนที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อถือ และพิธีกรรม ได้แก่ ฟ้อนผีมด ผีเม็ง ฟ้อนผีบ้านผีเมือง เป็นต้น
ฟ้อนแบบเมือง หมายถึงศิลปะการฟ้อน ที่มีลีลาแสดงลักษณะเป็นแบบฉบับของ "คนเมือง" หรือ "ชาวไทยยวน" ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่เป็นปึกแผ่นในแว่นแคว้น "ลานนา" นี้ การฟ้อนประเภทนี้ ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ เป็นต้น
ฟ้อนแบบม่าน คำว่า "ม่าน" ในภาษาลานนา หมายถึง "พม่า" การฟ้อนประเภทนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการฟ้อนของพม่ากับของไทยลานนา ได้แก่ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา
ฟ้อนแบบเงี้ยวหรือไทยใหญ่ หมายถึง การฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะการแสดงของชาวไทยใหญ่ (คนไทยลานนามักเรียกชาวไทยใหญ่ว่า "เงี้ยว" ในขณะที่ชาวไทยใหญ่มักเรียกตนเองว่า "ไต") ได้แก่ การฟ้อนไต ฟ้อนเงี้ยว กิ่งกะหร่า (กินราหรือฟ้อนนางนก) เป็นต้น
ฟ้อนที่ปรากฎในการแสดงละคร การฟ้อนประเภทนี้เป็นการฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรค์ขึ้นในการแสดงละครพันทาง ซึ่งนิยมกันในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ฟ้อนน้อยใจยา ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล เป็นต้น
การแสดงเบ็ดเตล็ด

เป็นการแสดงที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยอาจปรับปรุงจากการแสดงแบบมาตรฐาน คือ ยึดแบบ และลีลา ตลอดจนความสวยงามในด้านท่ารำไว้ ลีลาท่าทางที่สำคัญยังคงไว้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อให้งามขึ้น หรือเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่ที่นำไปแสดง