ภาษาไทย

คำซ้อน
คำมูลที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นนาม กริยา หรือวิเศษณ์ก็ได้ คำมูลเหล่านี้ต้องประกอบกับคำชนิดเดียวกัน คือเป็นคำนามด้วยกัน หรือกริยาด้วยกัน และทำหน้าที่ได้ต่าง ๆ เช่นเดียวกับชนิดของคำมูลที่นำมาซ้อนกันเช่น
นามกับนาม เช่น เนื้อตัว เรือแพ ลูกหลาน เสื่อสาด หูตา

กริยากับกริยา เช่น ทดแทน ชมเชย เรียกร้อง ว่ากล่าว สั่งสอน

วิเศษณ์กับวิเศษณ์ เช่น เข้มงวด แข็งแกร่ง ฉับพลัน ซีดเซียว เด็ดขาด

คำมูลที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นคำมาจากภาษาใดก็ได้ อาจเป็นคำไทยกับคำไทย คำไทยกับคำที่มาจากภาษาอื่น หรือเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นทั้งหมด เช่น
คำไทยกับคำไทย เช่น ผักปลา เลียบเคียง อ่อนนุ่ม อ้อนวอน
คำไทยกับคำเขมร เช่น แบบฉบับ พงไพร หัวสมอง แจ่มจรัส
คำไทยกับคำบาลีสันสกฤต เช่น เขตแดน โชคลาง พรรคพวก ศรีสง่า หมู่คณะ
คำเขมรกับคำเขมร เช่น ขจัดขจาย เฉลิมฉลอง
คำบาลีสันสกฤตกับคำบาลีสันสกฤต เช่น สรงสนาน ตรัสประภาษ เสบียงอาหาร
คำมูลที่นำมาซ้อนกัน ส่วนมากเป็นคำมูล 2 คำ ถ้ามากกว่านั้นมักเป็นคำมูล 4 คำ หรือ 6 คำ
ตัวอย่าง

คำมูล 2 คำ เช่น ข้าวปลา นิ่มนวล ปากคอ ฟ้าฝน หน้าตา
คำมูล 4 คำ อาจมีสัมผัสกลางหรือซ้ำเสียง เช่น ได้หน้าลืมหลัง กู้หนี้ยืมสิน ยากดีมีจนมากหมอมากความ ไปวัดไปวา ต้อนรับขับสู้
คำมูล 6 คำ มักมีสัมผัสระหว่างกลาง เช่น คดในข้องดในกระดูก จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน
คำซ้อนมี 2 ประเภท คือ

คำซ้อนเพื่อความหมาย เราเน้นความหมายเป็นหลัก เช่น ใหญ่โต เล็กน้อย กว้างขวาง
คำซ้อนเพื่อเสียง เราเน้นเสียงเป็นเกณฑ์ มักจะมีเสียงไปด้วยกันได้ เช่น เซ้าซี้ จู้จี้ โยเย โดกเดก งุ่นง่าน ซมซาน ฯลฯ